Saturday, February 2, 2013

ลักษณะทั่วไปของฟักทอง

ลักษณะทั่วไปของฟักทอง






ลักษณะทั่วไปของฟักทอง


ฟักทองเป็นพืชผักที่มีลำต้นทอดและเลื้อยไปตามพื้นดิน เช่นเดียวกับแตงโม มีดอกสีเหลือง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะแยกกันแต่อยู่ในต้นเดียวกัน ดังนั้น จึงต้องการช่วยผสมเกสร โดยวิธีธรรมชาติ เช่น ลมพัด หรือมีแมลงผสมเกสร หรือผู้ปลูกช่วยผสมเกสรเพื่อการติดผล
เป็นไม้เถาอ่อน มีขนสากมือ มีหนวดสำหรับเกี่ยวพันทอดไปตามพื้นดิน จึงต้องการเนื้อที่ปลูกมากกว่าพืชผักอื่นๆ เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ที่มีอายุปีเดียว (ฤดูเดียว) เมื่อให้ผลแล้วก็ตายไป
มีหลายพันธุ์ทั้งแบบต้นเลื้อยและเป็นพุ่มเตี้ย พันธุ์เบามีอายุเก็บเกี่ยวประมาณ 50-60 วัน ส่วนพันธุ์หนักมีอายุตั้งแต่หยอดเมล็ดจนติดผลอ่อน 45-60 วันและให้ผลแก่เมื่อ 120-180 วัน โดยทยอยเก็บผลได้หลายครั้งจนหมดผล

เทคนิคการผสมเกสรเพิ่มผลผลิตฟักทอง

เทคนิคการผสมเกสรเพิ่มผลผลิตฟักทอง 

 

ฟักทอง จัดเป็นพืชผักที่อยู่ในกลุ่มพืชตระกูลแตง ซึ่งได้แก่ ฟักทอง แตงกวา แตงร้าน ฟักแฟง มะระ บวบ แตงโม แคนตาลูป ฯลฯ เป็นพืชผักที่มีราคาถูก มีวิตามินเอสูง ช่วยบำรุงผิวพรรณและถนอมสายตา นำมาทำอาหารได้หลายชนิด เช่น ยอดอ่อนนำมาลวกจิ้มน้ำพริก หรือใส่แกงเลียง แกงส้มเปรอะ แกงส้ม เป็นต้น เนื้อใช้ทำอาหารได้ทั้งคาว-หวาน ทั้งผัด-แกง-ขนม และใช้เป็นอาหารเสริมในเด็กเล็ก รวมทั้งดัดแปลงมาใช้โรยหน้าหรือปนในขนมต่างๆ ทำให้มีสีสันสวยงาม และมีคุณค่าทางอาหารมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันมีเกษตรกรหลายท่านไม่ได้ให้ความสนใจในการต่อดอกของฟักทองจึงทำให้ได้ผลผลิตน้อยดังนั้นการต่อดอกฟักทองจึงมีความสำคัญมากเพาะจะทำให้เกษตรกรนั้นได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งทีมงาน FARMER INFO จ.เชียงราย ได้ลงพื้นที่พบกับคุณวัชรินทร์ ทารัมย์ เกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง ต.ดอนศิลา อ.เวียงชัย จ.เชียงราย เพื่อไปรับการถ่ายทอดวิชาความรู้ที่ได้จากการปลูกฟักทองมานาน โดยเฉพาะเทคนิคการผสมเกสรเพิ่มผลผลิตฟักทอง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


++ การเตรียมวัตถุดิบ ++

1. นมผงเด็ก

2. น้ำสะอาด

++วิธีการทำ ++

- เมื่อปลูกฟักทองได้ประมาณ 1 เดือน ให้สังเกตต้นฟักทองจะเริ่มออกดอก

- หลังจากนั้นนำนมผงเด็กที่เตรียมไว้มาผสมกับน้ำ ในอัตราส่วน 2 ช้อนโต๊ะต่อน้ำสะอาด 20 ลิตร

- คนให้นมผงละลายและเข้ากันดี

- นำไปฉีดพ่นดอกฟักทองในช่วงเช้า เพื่อช่วยล่อแมลงมาช่วยผสมเกสรทำให้ดอกฟักทองติดเป็นผลได้ทุกเถา

** หรืออีกวิธีการหนึ่งคือให้เกษตรกรนำเกสรดอกตัวผู้มาผสมให้กับดอกตัวเมีย โดยคัดเอาดอกจากต้นที่สมบูรณ์แข็งแรงวิธีการสังเกตดอกนั้นสามารถสังเกตได้ง่ายๆโดยดอกตัวผู้จะเป็นดอกสีเหลืองและมีเกสรอยู่ด้านใน ส่วนดอกตัวเมียนั้น จะมีดอกสีเหลืองและจะสังเกตเห็นได้ว่าฐานของดอกนั้นจะมีลูกกลมๆสีเขียวติดอยู่กับดอก

- ให้นำเกสรตัวผู้ 1 ดอก มาผสมกับดอกตัวเมีย 3 ดอก คือ ให้นำเกสรตัวผู้มาเคาะเอาเกสรใส่ลงไปในเกสรตัวเมีย หรืออาจใช้ไม้เล็กๆเขี่ยลงไปผสมก็ได้

- หากดอกฟักทองได้รับการผสมเกสรก็จะทำให้มีขนาดของผลที่ใหญ่ขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน หากไม่ได้รับการผสมเกสรจะทำให้ผลของฟักทองแห้งหรือฝ่อ ทำให้ไม่ได้ผลผลิต
++ ประโยชน์ ++

-ลดต้นทุนเพิ่มผลผลิต

-ลดค่าปุ๋ย-ยาฮอร์โมนต่างๆในการบำรุง

-สามารถให้ผลผลิตเร็วกว่าการปลูกฟักทองทั่วไปแถมยังได้คุณภาพอีกด้วย

เรียบเรียงโดย : พูนศักดิ์ ศรีสุทธา เจ้าหน้าสถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ.เชียงราย
---------------------------- ^ ^ ---------------------------
แหล่งอ้างอิง :
วัชรินทร์ ทารัมย์ .สัมภาษณ์,31 พฤษภาคม 2555

การปลูกฟักทองแบบเกษตรอินทรีย์

การปลูกฟักทองแบบเกษตรอินทรีย์

สำหรับวิธีการปลูกฟักทองในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์นั้น ผศ. ดร. จานุลักษณ์ ขนบดี สถานบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ปลูกฟักทองโดยไม่ใช้สารเคมีและสารสังเคราะห์ทุกชนิดมีการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดี โดยใช้ปุ๋ยหมักมีการคลุมดินจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ฟางข้าว ซากพืชและสัตว์ที่ผุพังมีการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อลดการระบาดของศัตรูพืชและมีการอนุรักษ์แมลงที่เป็นประโยชน์

++ การทำและใช้ปุ๋ยหมักบำรุงดินและต้นฟักทอง ++

ปุ๋ยหมัก : เป็นปุ๋ยที่ทำจากการหมักเศษพืชเป็นชั้นสูง 20 – 30 เซนติเมตร จากนั้นใส่มูลสัตว์เป็นชั้นสูง 5 – 10 เซนติเมตร แล้วพรมน้ำให้ความชื้น(ทดสอบปริมาณความชื้นที่เหมาะสมด้วยการกำเศษวัสดุให้แน่นแล้วมีน้ำไหลออกมาตามร่องนิ้วมือเล็กน้อย) ทำการกองเศษพืชและมูลสัตว์สลับกันจนได้ความสูงของกองปุ๋ยประมาณ 1 เมตรจากนั้นนำวัสดุ เช่น กระสอบทราย ทางมะพร้าวหรือฟางข้าว มาคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้นไว้ในกองปุ๋ยนานๆ กลับกองปุ๋ยทุกๆ 3 – 4 อาทิตย์ต่อครั้ง หมักกองปุ๋ยนาน 3 เดือน ปุ๋ยที่หมักจะสุกหรือย่อยสลายตัวดีนำไปใช้เพาะปลูกฟักทองได้ ปุ๋ยหมักที่พร้อมใช้จะมีลักษณะเปื่อยยุ่ยมีสีน้ำตาลคล้ำหรือสีดำมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดิน ไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนมูลสัตว์ ในการทำปุ๋ยหมักควรใช้สารเร่ง พด.1 จากกรมพัฒนาที่ดินเพื่อช่วยในการย่อยสลายของซากพืช ปุ๋ยหมักจะใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นอัตราที่แนะนำในการใส่แปลงฟักทองเฉลี่ย 3 – 6 ตันต่อไร่ ขึ้นอยู่กับสมบูรณ์ของสภาพดินที่ปลูก

ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากพืชผัก : จะเป็นน้ำหมักที่ทำจากการหมักเศษพืชและสัตว์ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากพืช เช่น ผักต่างๆ, ผลไม้,วัชพืชและสมุนไพร เป็นต้น ใช้อัตราส่วนเศษพืช 3 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน โดยนำวัสดุมาย่อยหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆหรือบดให้ละเอียดคลุกเคล้ากับกากน้ำตาลให้เข้ากันในภาชนะ โดยใส่ให้เกือบเต็ม ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่มมีสภาพอากาศถ่ายเทดีหลังจากการหมักไปได้ 7 – 10 วัน ให้กรองเอาแต่ของเหลวมาผสมน้ำอัตราส่วน 1:200 หรือ 1:1,000ฉีดพ่นต้นพืชหรือราดลงดินบริเวณรากพืช

ปุ๋ยน้ำชีวภาพ : ที่ทำได้ง่ายๆ เช่น ผสมรำละเอียด 60 กิโลกรัม มูลไก่ 40 กิโลกรัม คลุกให้เข้ากัน จากนั้นใช้เชื้อ พด. 1 ( เชื้อเร่งการทำปุ๋ยหมัก ) 1 ซอง ต่อน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันนานประมาณ 15 – 20 นาที นำน้ำเชื้อ พด.1 ไปเทใส่กองปุ๋ยคลุกให้มีความชื้นมากพอ ( สังเกตความชื้นของกองปุ๋ยด้วยการกำวัสดุแล้วคลายมือออก ก้อนวัสดุยังไม่แตก) หลังจากนั้นกองวัสดุที่ผสมเข้ากันดีแล้วโดยใช้กระสอบป่านคลุม ทำการกลับกองปุ๋ยทุกวันเป็นเวลานาน 7 – 10 วัน เมื่อปุ๋ยหมักได้ที่แล้วแผ่กองปุ๋ยผึ่งให้แห้งเพื่อเก็บไว้ใช้ได้นาน วิธีการนำมาใช้ผสมปุ๋ยหมักชีวภาพแห้ง อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ไว้ในถังนานประมาณ 5 – 7 วัน คนให้ปุ๋ยย่อยสลายจะได้ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่เข้มข้น ปุ๋ยหมักชีวภาพแห้งอัตรา 1 กิโลกรัม ทำเป็นปุ๋ยน้ำได้ 400 – 800 ลิตร สามารถนำไปตักรดหรือปล่อยตามร่องให้กับแปลงปลูกฟักทองหรือผสมกับสมุนไพรในการป้องกันและกำจัดศัตรูฟักทองได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต

ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี ย้ำว่าการใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตในการปลูกฟักทองนั้น จะต้องได้รับแร่ธาตุอาหารที่เพียงพออาจจะใช้ไม่ได้ผลกับพืชที่ปลูกในดินที่มีความอุดสมบูรณ์ต่ำ การราดน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพลงในดินจะเป็นการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ให้แก่ดินบริเวณรากพืชพร้อมกับเป็นการปรับความชื้นในดินบริเวณนั้นให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ กิจกรรมต่างๆของจุลินทรีย์จะดำเนินไปอย่างรวดเร็วโดยใช้อาหารจากปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกหรือพืชสดและวัชพืชที่ใส่ลงในดิน สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ และสร้างสารควบคุมการเจริญเติบโตให้แก่พืชได้อย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง

น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์ : ได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อย, หอยเชอรี่, เปลือกกุ้ง, กระดองปู, แมลงและเศษชิ้นส่วนของสัตว์ ให้ใช้อัตราส่วน 3 ส่วนต่อกากน้ำตาล 3 ส่วนโดยการนำสัตว์หรือชิ้นส่วนมาย่อยหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆหรือบดให้ละเอียด คลุกเคล้ากับกากน้ำตาลให้เข้ากันในภาชนะ และควรจะเติมน้ำหมักชีวภาพหรือน้ำหมักจุลินทรีย์หรือน้ำมะพร้าวหรือหัวเชื้อจุลินทรีย์ละลายลงๆไป 1 ส่วน ปิดฝาและนำไปเก็บในที่ร่มมีอากาศถ่ายเทดีสำหรับการหมักปุ๋ยชีวภาพจากสัตว์จะไม่ปิดฝาและกวนวันละหลายๆครั้งหลังจากการหมักไปแล้ว 1 เดือนหรือจนกว่าวัสดุที่ใช้หมักจะย่อยสลายดีแล้วทำการกรองเอาแต่ของเหลวมาใช้กับพืชเช่นเดียวกับน้ำหมักชีวภาพจากพืช

นอกจากนี้ยังมีการลดต้นทุนในการใส่ปุ๋ยหมักด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนตระกูลถั่วเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ปอเทือง โสนอิเดียและโสนแอฟริกัน เป็นต้น พืชตระกูลถั่วเหล่านี้จะมีระบบรากซึ่งมีแบคทีเรียอาศัยอยู่และสามารถเปลี่ยนไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นปุ๋ยที่พืชสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในการปลูกพืชเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสด แนะนำให้หว่านเมล็ดพืชตระกูลถั่วดังกล่าวในอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านในช่วงต้นฤดูฝน(เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน )หลังจากหว่านเมล็ดไปได้ 2 เดือนเศษ พืชตระกูลถั่วจะเริ่มมีดอกบานร้อยละ 50 ให้ทำการไถกลบเพื่อหมักเป็นปุ๋ย ในการย่อยสลายของซากพืชจะใช้ระยะเวลา 3 – 4 อาทิตย์รวมระยะเวลาที่จะต้องใช้พื้นที่นาน 3 เดือน จึงสามารถปลูกฟักทองได้

การตัดแต่งและไว้ตำแหน่งผลของฟักทอง : การตัดแต่งจะทำหลังจากย้ายต้นกล้าฟักทองลงปลูกในแปลง 10 - 15 วัน เมื่อถึงระยะมีใบที่ 5 ให้เด็ดยอดทิ้งหลังจากนั้นภายใน 2 อาทิตย์ จะมีเถาแขนงแตกออกจากมุมใบ 3 – 4 เถา ให้ติดผลแขนงเถาที่ 5 ถึง 7 จำนวน 4 – 5 ผล ให้ติผลในข้อที่มากกว่า เมื่อผลมีขนาดเท่ากับลูกมะนาว ให้คัดเลือกผลที่สมบูรณ์เหลือเพียง 3 – 4 ผลต่อต้น หลังจากนั้นให้ทำการห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันทอง ปล่อยให้แขนงแตกโดยธรรมชาติและทำการปลิดผลออกในส่วนปลายเถาออกทิ้งเป็นระยะๆในการตัดแต่งควรจะทำในช่วงเวลาเช้าเพื่อให้บาดแผลแห้งภายในวันนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าทำลายโดยเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่พืชทางบาดแผล และอาจพ่นสารเคมีป้องกันโรคพืชตามความเหมาะสม นอกจากนี้วันที่ตัดแต่งถ้าเป็นไปได้เป็นวันที่แสงแดดตลอดวันจะยิ่งดี

การเก็บเกี่ยวผลผลิตฟักทอง : หลังจากที่มีการย้ายต้นกล้าฟักทองลงปลูกในแปลงนาน 80 – 100 วันหรือหลังจากดอกบาน 40 – 60 วัน ผลฟักทองจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจัดและมีนวลสีขาวที่ผล เถาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม การผลิตฟักทองสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแบบผลอ่อนหรือผลแก่ตามความต้องการของตลาด ทำการเก็บเกี่ยว 2 – 3 ครั้ง ช่วงระยะของการเก็บเกี่ยว 15 – 20 วัน ผลผลิตฟักทองเฉลี่ย 3 – 6 ตันต่อไร่
โรคและแมลงศัตรูของฟักทอง: โรคและแมลงศัตรูฟักทอง จากการสำรวจพบว่าแมลงศัตรูฟักทองที่สำคัญจะมีประมาณ 8 ชนิดในกลุ่มแมลงปากดูด ได้แก่ เพลี้ยไฟ, เพลี้ยอ่อนแตงและแมลงหวี่ขาว เป็นต้น กลุ่มแมลงปีกแข็ง ได้แก่ ด้วงเต่าแตงสีแดงและด้วงเต่าแตงสีดำ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือแมลงวัน ได้แก่ หนอนแมลงวันแตง,หนอนชอนใบและหนอนแดง เป็นต้น

ช่วงที่มีการระบาดแมลงสัตรูฟักทองที่รุนแรง คือ ช่วงเปลี่ยนฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคม – เมษายนวิธีการป้องกันโดยวิธีเขตกรรม คือ ปลูกพืชต่างตระกูลเพื่อลดจำนวนแมลงศัตรูพืช ส่วนการฉีดพ่นสมุนไพรควรพิจารณาตามความจำเป็นและการใช้สมุนไพรจะต้องฉีดพ่นในช่วงตอนเย็นจะได้ผลดีที่สุดโดยเฉพาะสมุนไพรในกลุ่มสะเดาจะใช้ได้ ป้องกันและกำจัดแมลงในวงกว้าง

โรคที่มักพบในการระบาดมากในการปลูกฟักทอง คือ โรคราน้ำค้างมักพบอาการใบแก่มีแผลสีเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป รูปร่างแผลมีเหลี่ยมมุม เมื่อพลิกดูแผลที่ด้านหลังใบมักจะพบอาการมีผงสีขาวเกาะอยู่บนใบแก่คล้ายมีคนเอาผงแป้งมาโรยไว้ ต่อมาเนื้อใบจะเริ่มเหลืองและแห้งตาย โรคราน้ำค้างมักจะพบในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเย็น

**เกษตรที่เสร็จสิ้นการทำนาปีแล้วนิยมปลูกผักหลังการทำนาเพื่อเป็นรายได้เสริม ฟักทอง พืชที่มีความเหมาะสมในการปลูกช่วงหลังทำนาคือ ราว กุมภาพันธ์ – มีนาคม เนื่องจากฟักทองเจริญเติบโตได้ดีในช่วงเดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ หากพื้นที่เป็นที่ดอนแล้วเลือกปลูกได้ในช่วงฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้น เกษตรกรจะประสบความสำเร็จในการผลิตฟักทองให้ได้คุณภาพจึงต้องศึกษาถึงลักษณะนิสัยของพืชชนิดนี้ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมการเตรียมดินก่อนปลูก การให้น้ำ – ปุ๋ย ตลอดจนปัญหาของโรค – แมลงศัตรู เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันกำจัด และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ


------------------------------------ ^ ^ --------------------------------------
ที่มา :
ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร.การผลิตฟักทองแบบปลอดภัย วารสารเส้นทางกสิกรรม ฉบับที่ 163 เดือนมีนาคม.2552.พิจิตร

เทคนิคช่วยผสมเกสรฟักทอง

เทคนิคช่วยผสมเกสรฟักทอง 
 

ดอกฟักทอง ออกเป็นดอกเดี่ยวอยู่ตามข้อใบแยกเพศ มีกลีบเลี้ยงสีเขียว กลีบดอกมีสีเหลือง 5 กลีบ ดอกตัวเมีย จะมีรังไข่กลมยาว 2-5 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายผลฟักทองขนาดเล็ก ส่วนของยอดเกสรมี 2-5 แฉก

++ การสังเกตดอกตัวเมียและตัวผู้ของฟักทอง ++

ในระยะแรกของการเจริญเติบโต ฟักทองจะมีแต่ดอกตัวผู้ ส่วนดอกตัวเมียจะเริ่มมีตั้งแต่ข้อที่ 12-15 เป็นต้นไป ส่วนใหญ่ดอกที่เกิดปลายเถาและเถาแขนงจะเป็นดอกตัวเมีย

การต่อดอก โดยปลิดกลีบดอกตัวผู้ออกแล้วนำไปเคาะให้ละอองเกสรตกลงบนดอกตัวเมีย

++ การต่อดอกฟักทอง ++
ดอกตัวเมียและตัวผู้ของฟักทองจะเริ่มบานในช่วงเวลา 3.30-6.00 น. อับละอองเรณูของฟักทองจะแตกระหว่างเวลา 21.00-3.00 น. ละอองเรณูจะมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 16 ชั่วโมง หลังอับละอองเรณูแตกยอดเกสรตัวเมียจะพร้อมรับการผสมเกสรก่อนดอกบาน 2 ชั่วโมง และหลังดอกบาน 10 ชั่วโมง ดังนั้นในช่วงเวลาที่มีความเหมาะสมต่อการช่วยผสมเกสรฟักทอง คือ ตั้งแต่เวลา 6.00-9.00 น.

เมื่อดอกฟักทองกำลังบานให้เลือกดอกตัวผู้ เด็ดมาแล้วปลิดกลีบดอกออกให้หมด นำไปเคาะละอองเกสรตัวผู้ให้ตกลงบนดอกตัวเมีย ถ้าติดผลจะให้ผลอ่อน ถ้าไม่ติดผลดอกตัวเมียจะฝ่อไป วิธีนี้เรียกว่า "การต่อดอก"
++ การล่อแมลงช่วยผสมเกสร ++

อีกวิธีหนึ่งที่เกษตรกรผู้ปลูกฟักทอง จ.สกลนคร แนะนำเทคนิคง่ายๆ คือ เอานมผงที่ใช้เลี้ยงทารกผสมน้ำพอประมาณ พ่นใส่ดอกฟักทองในระยะที่ดอกกำลังบาน เพื่อล่อแมลงมาช่วยผสมเกสร วิธีนี้ช่วยให้ฟักทองติดผลทุกเถา โดยไม่ต้องต่อดอก

------------------------------- ^ ^ ------------------------------
ที่มา:

วารสารเส้นทางกสิกรรม ปีที่ 14 ฉบับที่ 163 เดือนมีนาคม.การผลิตฟักทองแบบปลอดภัย" ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตรจ.พิจิตร

การปลูกฟักทองเพิ่มขนาดผล


การปลูกฟักทองเพิ่มขนาดผล



คุณนิภา นวลน้อย เกษตรกร บ้านวัดนอก ต.วิสัยเหนือ อ.เมือง จ.ชุมพร ปลูกฟักทองเป็นอาชีพเสริมในช่วงฤดูแล้ง โดยปลูกแซมในสวนปาล์มน้ำมันที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป ในพื้นที่ 7 ไร่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ประมาณรอบละ 10 – 12 ตัน จำหน่ายได้ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท สามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้ เป็นอย่างดี และมีเทคนิคและวิธีการปลูกฟักทองให้ได้ผลผลิตดี ดังนี้



ขั้นตอนการเตรียมดิน :

- ควรขุดไถดินลึกประมาณ 25-30 ซม. เพราะเป็นพืชที่มีระบบรากลึก

- ควรตากดินทิ้งไว้ 5-7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคและวัชพืชได้บ้าง

- ควรใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมัก เพื่อปรับปรุงสภาพดินให้ร่วนซุย และเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้ดิน แล้วจึงย่อยพรวนดินให้ร่วนซุย

- เก็บเศษวัชพืชต่างๆ ออกจากแปลงให้หมด


ขั้นตอนการปลูก :

- โดยใช้ระยะปลูก 3x3 เมตรใช้วิธีหยอดหลุมปลูก หลุมละ 3-5 เมล็ด ลึกประมาณ 3-5 ซม. แล้วกลบหลุม

- ถ้ามีฟางข้าวแห้ง ให้นำมาคลุมแปลงปลูก เพื่อรักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหน้าดิน

- เมื่อต้นกล้างอกจะมีใบจริง 2-3 ใบแล้ว ควรถอนแยกต้นที่ไม่สมบูรณ์ทิ้งไป เหลือต้นที่สมบูรณ์แข็งแรง เหลือหลุมละ 2 ต้น และรดน้ำทุกวันเมื่อต้นกล้าเจริญจนมีใบจริง 4 ใบ

- ช่วงนี้ให้ใส่ปุ๋ยสูตร 21-0-0 ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะต่อต้น

- เมื่อฟักทองเริ่มออกดอก ใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 14-14-21 โรยรอบๆ ต้น ( ประมาณ 1 กำมือ ) แล้วรดน้ำตามและใส่ปุ๋ยอีกครั้งเมื่อฟักทองเริ่มติดผลอ่อน

- การรดน้ำต้องรดน้ำทุกวัน จนคะเนว่าอีก 15 วัน จะเก็บผลแก่ได้ จึงเลิกรดน้ำ


เทคนิคต่างๆในการปลูกฟักทอง :

การผสมเกสร เมื่อดอกฟักทองกำลังบานให้เลือกดอกตัวผู้ เด็ดมาแล้วปลิดกลีบดอกออกให้หมด นำไป เคาะละออง เกสรตัวผู้ให้ตกลงบนดอกตัวเมีย ถ้าติดผลจะให้ผลอ่อน ถ้าไม่ติดผลดอกตัวเมียจะฝ่อไป

การกำจัดแมลงวันทองโดยใช้กล้วยเล็บมือนางเป็นตัวล่อ โดยใช้ขวดน้ำพลาสติกเจาะรูขนาด 3x3 นิ้วทั้งสองด้าน จากนั้นนำกล้วยเล็บมือนางที่สุกจัดๆมาใส่ในขวด แล้วนำยาฆ่าแมลงมาใส่ในขวด เมื่อแมลงวันทองได้กลิ่น กล้วย ก็จะเข้ามากินก็จะทำให้โดนยาฆ่าแมลงตาย

การทำให้ฟักทองผลโต เมื่อฟักทองติดผลอ่อนได้ประมาณ 5 วันให้ทำการตัดยอดฟักทองออกเพื่อให้น้ำเลี้ยงต่างๆ มา เลี้ยงที่ผลฟักทองได้เต็มที่ จะได้ผลฟักทองที่โตเต็มที่ (ประมาณ 7–10 กก./ ผล )


การเก็บเกี่ยว :

เมื่อผลแก่เก็บเกี่ยวได้ให้สังเกตสีเปลือก สีจะกลมกลืนเป็นสีเดียวกัน ไม่แตกต่างกันมากนัก ดูนวล ขึ้นเต็มทั้งผล คือมีนวลขึ้นตั้งแต่ขั้วไปจนตลอดก้นผล แสดงว่าแก่จัด การเก็บควรเหลือขั้วติดไว้ด้วยสักพอประมาณเพื่อช่วยให้เก็บรักษาได้นานขึ้นสามารถเก็บผลไว้รอขาย ได้นานๆ จะทยอยเก็บผลได้ 5-6 ครั้ง จนหมด

ที่มา :

ศูนย์ทางด่วนข้อมูลการเกษตร *1677
สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน จ. ชุมพร

---------- ^ ^ -----------

แหล่งอ้างอิง :

นิภา นวลน้อย เกษตรกร บ้านวัดนอก ต.วิสัยเหนือ อ.เมือง จ.ชุมพร.สัมภาษณ์,20 มีนาคม 2552