Saturday, February 2, 2013

การปลูกฟักทองแบบเกษตรอินทรีย์

การปลูกฟักทองแบบเกษตรอินทรีย์

สำหรับวิธีการปลูกฟักทองในรูปแบบของเกษตรอินทรีย์นั้น ผศ. ดร. จานุลักษณ์ ขนบดี สถานบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ปลูกฟักทองโดยไม่ใช้สารเคมีและสารสังเคราะห์ทุกชนิดมีการปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดี โดยใช้ปุ๋ยหมักมีการคลุมดินจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ฟางข้าว ซากพืชและสัตว์ที่ผุพังมีการปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อลดการระบาดของศัตรูพืชและมีการอนุรักษ์แมลงที่เป็นประโยชน์


++ การทำและใช้ปุ๋ยหมักบำรุงดินและต้นฟักทอง ++

ปุ๋ยหมัก : เป็นปุ๋ยที่ทำจากการหมักเศษพืชเป็นชั้นสูง 20 – 30 เซนติเมตร จากนั้นใส่มูลสัตว์เป็นชั้นสูง 5 – 10 เซนติเมตร แล้วพรมน้ำให้ความชื้น(ทดสอบปริมาณความชื้นที่เหมาะสมด้วยการกำเศษวัสดุให้แน่นแล้วมีน้ำไหลออกมาตามร่องนิ้วมือเล็กน้อย) ทำการกองเศษพืชและมูลสัตว์สลับกันจนได้ความสูงของกองปุ๋ยประมาณ 1 เมตรจากนั้นนำวัสดุ เช่น กระสอบทราย ทางมะพร้าวหรือฟางข้าว มาคลุมกองปุ๋ยเพื่อรักษาความชื้นไว้ในกองปุ๋ยนานๆ กลับกองปุ๋ยทุกๆ 3 – 4 อาทิตย์ต่อครั้ง หมักกองปุ๋ยนาน 3 เดือน ปุ๋ยที่หมักจะสุกหรือย่อยสลายตัวดีนำไปใช้เพาะปลูกฟักทองได้ ปุ๋ยหมักที่พร้อมใช้จะมีลักษณะเปื่อยยุ่ยมีสีน้ำตาลคล้ำหรือสีดำมีกลิ่นหอมเหมือนกลิ่นดิน ไม่มีกลิ่นเหม็นเหมือนมูลสัตว์ ในการทำปุ๋ยหมักควรใช้สารเร่ง พด.1 จากกรมพัฒนาที่ดินเพื่อช่วยในการย่อยสลายของซากพืช ปุ๋ยหมักจะใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นอัตราที่แนะนำในการใส่แปลงฟักทองเฉลี่ย 3 – 6 ตันต่อไร่ ขึ้นอยู่กับสมบูรณ์ของสภาพดินที่ปลูก

ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพจากพืชผัก : จะเป็นน้ำหมักที่ทำจากการหมักเศษพืชและสัตว์ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากพืช เช่น ผักต่างๆ, ผลไม้,วัชพืชและสมุนไพร เป็นต้น ใช้อัตราส่วนเศษพืช 3 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน โดยนำวัสดุมาย่อยหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆหรือบดให้ละเอียดคลุกเคล้ากับกากน้ำตาลให้เข้ากันในภาชนะ โดยใส่ให้เกือบเต็ม ปิดฝาเก็บไว้ในที่ร่มมีสภาพอากาศถ่ายเทดีหลังจากการหมักไปได้ 7 – 10 วัน ให้กรองเอาแต่ของเหลวมาผสมน้ำอัตราส่วน 1:200 หรือ 1:1,000ฉีดพ่นต้นพืชหรือราดลงดินบริเวณรากพืช

ปุ๋ยน้ำชีวภาพ : ที่ทำได้ง่ายๆ เช่น ผสมรำละเอียด 60 กิโลกรัม มูลไก่ 40 กิโลกรัม คลุกให้เข้ากัน จากนั้นใช้เชื้อ พด. 1 ( เชื้อเร่งการทำปุ๋ยหมัก ) 1 ซอง ต่อน้ำ 20 ลิตร คนให้เข้ากันนานประมาณ 15 – 20 นาที นำน้ำเชื้อ พด.1 ไปเทใส่กองปุ๋ยคลุกให้มีความชื้นมากพอ ( สังเกตความชื้นของกองปุ๋ยด้วยการกำวัสดุแล้วคลายมือออก ก้อนวัสดุยังไม่แตก) หลังจากนั้นกองวัสดุที่ผสมเข้ากันดีแล้วโดยใช้กระสอบป่านคลุม ทำการกลับกองปุ๋ยทุกวันเป็นเวลานาน 7 – 10 วัน เมื่อปุ๋ยหมักได้ที่แล้วแผ่กองปุ๋ยผึ่งให้แห้งเพื่อเก็บไว้ใช้ได้นาน วิธีการนำมาใช้ผสมปุ๋ยหมักชีวภาพแห้ง อัตรา 1 กิโลกรัมต่อน้ำ 20 ลิตร แช่ไว้ในถังนานประมาณ 5 – 7 วัน คนให้ปุ๋ยย่อยสลายจะได้ปุ๋ยน้ำชีวภาพที่เข้มข้น ปุ๋ยหมักชีวภาพแห้งอัตรา 1 กิโลกรัม ทำเป็นปุ๋ยน้ำได้ 400 – 800 ลิตร สามารถนำไปตักรดหรือปล่อยตามร่องให้กับแปลงปลูกฟักทองหรือผสมกับสมุนไพรในการป้องกันและกำจัดศัตรูฟักทองได้ทุกระยะของการเจริญเติบโต

ผศ.ดร.จานุลักษณ์ ขนบดี ย้ำว่าการใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตในการปลูกฟักทองนั้น จะต้องได้รับแร่ธาตุอาหารที่เพียงพออาจจะใช้ไม่ได้ผลกับพืชที่ปลูกในดินที่มีความอุดสมบูรณ์ต่ำ การราดน้ำปุ๋ยหมักชีวภาพลงในดินจะเป็นการเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์ให้แก่ดินบริเวณรากพืชพร้อมกับเป็นการปรับความชื้นในดินบริเวณนั้นให้มีความเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ กิจกรรมต่างๆของจุลินทรีย์จะดำเนินไปอย่างรวดเร็วโดยใช้อาหารจากปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอกหรือพืชสดและวัชพืชที่ใส่ลงในดิน สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ และสร้างสารควบคุมการเจริญเติบโตให้แก่พืชได้อย่างช้าๆ แต่ต่อเนื่อง

น้ำหมักชีวภาพที่ผลิตจากสัตว์ : ได้แก่ ปลาเล็กปลาน้อย, หอยเชอรี่, เปลือกกุ้ง, กระดองปู, แมลงและเศษชิ้นส่วนของสัตว์ ให้ใช้อัตราส่วน 3 ส่วนต่อกากน้ำตาล 3 ส่วนโดยการนำสัตว์หรือชิ้นส่วนมาย่อยหรือสับให้เป็นชิ้นเล็กๆหรือบดให้ละเอียด คลุกเคล้ากับกากน้ำตาลให้เข้ากันในภาชนะ และควรจะเติมน้ำหมักชีวภาพหรือน้ำหมักจุลินทรีย์หรือน้ำมะพร้าวหรือหัวเชื้อจุลินทรีย์ละลายลงๆไป 1 ส่วน ปิดฝาและนำไปเก็บในที่ร่มมีอากาศถ่ายเทดีสำหรับการหมักปุ๋ยชีวภาพจากสัตว์จะไม่ปิดฝาและกวนวันละหลายๆครั้งหลังจากการหมักไปแล้ว 1 เดือนหรือจนกว่าวัสดุที่ใช้หมักจะย่อยสลายดีแล้วทำการกรองเอาแต่ของเหลวมาใช้กับพืชเช่นเดียวกับน้ำหมักชีวภาพจากพืช

นอกจากนี้ยังมีการลดต้นทุนในการใส่ปุ๋ยหมักด้วยการปลูกพืชหมุนเวียนตระกูลถั่วเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด ได้แก่ ปอเทือง โสนอิเดียและโสนแอฟริกัน เป็นต้น พืชตระกูลถั่วเหล่านี้จะมีระบบรากซึ่งมีแบคทีเรียอาศัยอยู่และสามารถเปลี่ยนไนโตรเจนจากอากาศให้เป็นปุ๋ยที่พืชสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในการปลูกพืชเพื่อทำเป็นปุ๋ยพืชสด แนะนำให้หว่านเมล็ดพืชตระกูลถั่วดังกล่าวในอัตรา 5 กิโลกรัมต่อไร่ หว่านในช่วงต้นฤดูฝน(เดือนพฤษภาคม – มิถุนายน )หลังจากหว่านเมล็ดไปได้ 2 เดือนเศษ พืชตระกูลถั่วจะเริ่มมีดอกบานร้อยละ 50 ให้ทำการไถกลบเพื่อหมักเป็นปุ๋ย ในการย่อยสลายของซากพืชจะใช้ระยะเวลา 3 – 4 อาทิตย์รวมระยะเวลาที่จะต้องใช้พื้นที่นาน 3 เดือน จึงสามารถปลูกฟักทองได้

การตัดแต่งและไว้ตำแหน่งผลของฟักทอง : การตัดแต่งจะทำหลังจากย้ายต้นกล้าฟักทองลงปลูกในแปลง 10 - 15 วัน เมื่อถึงระยะมีใบที่ 5 ให้เด็ดยอดทิ้งหลังจากนั้นภายใน 2 อาทิตย์ จะมีเถาแขนงแตกออกจากมุมใบ 3 – 4 เถา ให้ติดผลแขนงเถาที่ 5 ถึง 7 จำนวน 4 – 5 ผล ให้ติผลในข้อที่มากกว่า เมื่อผลมีขนาดเท่ากับลูกมะนาว ให้คัดเลือกผลที่สมบูรณ์เหลือเพียง 3 – 4 ผลต่อต้น หลังจากนั้นให้ทำการห่อผลเพื่อป้องกันแมลงวันทอง ปล่อยให้แขนงแตกโดยธรรมชาติและทำการปลิดผลออกในส่วนปลายเถาออกทิ้งเป็นระยะๆในการตัดแต่งควรจะทำในช่วงเวลาเช้าเพื่อให้บาดแผลแห้งภายในวันนั้น เพื่อเป็นการป้องกันการเข้าทำลายโดยเชื้อแบคทีเรียที่เข้าสู่พืชทางบาดแผล และอาจพ่นสารเคมีป้องกันโรคพืชตามความเหมาะสม นอกจากนี้วันที่ตัดแต่งถ้าเป็นไปได้เป็นวันที่แสงแดดตลอดวันจะยิ่งดี

การเก็บเกี่ยวผลผลิตฟักทอง : หลังจากที่มีการย้ายต้นกล้าฟักทองลงปลูกในแปลงนาน 80 – 100 วันหรือหลังจากดอกบาน 40 – 60 วัน ผลฟักทองจะเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจัดและมีนวลสีขาวที่ผล เถาเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้ม การผลิตฟักทองสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตแบบผลอ่อนหรือผลแก่ตามความต้องการของตลาด ทำการเก็บเกี่ยว 2 – 3 ครั้ง ช่วงระยะของการเก็บเกี่ยว 15 – 20 วัน ผลผลิตฟักทองเฉลี่ย 3 – 6 ตันต่อไร่
โรคและแมลงศัตรูของฟักทอง: โรคและแมลงศัตรูฟักทอง จากการสำรวจพบว่าแมลงศัตรูฟักทองที่สำคัญจะมีประมาณ 8 ชนิดในกลุ่มแมลงปากดูด ได้แก่ เพลี้ยไฟ, เพลี้ยอ่อนแตงและแมลงหวี่ขาว เป็นต้น กลุ่มแมลงปีกแข็ง ได้แก่ ด้วงเต่าแตงสีแดงและด้วงเต่าแตงสีดำ ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือแมลงวัน ได้แก่ หนอนแมลงวันแตง,หนอนชอนใบและหนอนแดง เป็นต้น

ช่วงที่มีการระบาดแมลงสัตรูฟักทองที่รุนแรง คือ ช่วงเปลี่ยนฤดูหนาวเป็นฤดูร้อน ระหว่างเดือนมกราคม – เมษายนวิธีการป้องกันโดยวิธีเขตกรรม คือ ปลูกพืชต่างตระกูลเพื่อลดจำนวนแมลงศัตรูพืช ส่วนการฉีดพ่นสมุนไพรควรพิจารณาตามความจำเป็นและการใช้สมุนไพรจะต้องฉีดพ่นในช่วงตอนเย็นจะได้ผลดีที่สุดโดยเฉพาะสมุนไพรในกลุ่มสะเดาจะใช้ได้ ป้องกันและกำจัดแมลงในวงกว้าง

โรคที่มักพบในการระบาดมากในการปลูกฟักทอง คือ โรคราน้ำค้างมักพบอาการใบแก่มีแผลสีเหลืองกระจายอยู่ทั่วไป รูปร่างแผลมีเหลี่ยมมุม เมื่อพลิกดูแผลที่ด้านหลังใบมักจะพบอาการมีผงสีขาวเกาะอยู่บนใบแก่คล้ายมีคนเอาผงแป้งมาโรยไว้ ต่อมาเนื้อใบจะเริ่มเหลืองและแห้งตาย โรคราน้ำค้างมักจะพบในช่วงฤดูหนาวหรือช่วงที่มีอากาศเย็น

**เกษตรที่เสร็จสิ้นการทำนาปีแล้วนิยมปลูกผักหลังการทำนาเพื่อเป็นรายได้เสริม ฟักทอง พืชที่มีความเหมาะสมในการปลูกช่วงหลังทำนาคือ ราว กุมภาพันธ์ – มีนาคม เนื่องจากฟักทองเจริญเติบโตได้ดีในช่วงเดือน พฤศจิกายน – กุมภาพันธ์ หากพื้นที่เป็นที่ดอนแล้วเลือกปลูกได้ในช่วงฤดูฝนจะทำให้เกษตรกรขายผลผลิตได้ในราคาสูงขึ้น เกษตรกรจะประสบความสำเร็จในการผลิตฟักทองให้ได้คุณภาพจึงต้องศึกษาถึงลักษณะนิสัยของพืชชนิดนี้ ตั้งแต่การปลูกจนถึงการเก็บเกี่ยวการเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมการเตรียมดินก่อนปลูก การให้น้ำ – ปุ๋ย ตลอดจนปัญหาของโรค – แมลงศัตรู เพื่อจะได้หาวิธีป้องกันกำจัด และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ


------------------------------------ ^ ^ --------------------------------------
ที่มา :
ชมรมเผยแพร่ความรู้ทางการเกษตร.การผลิตฟักทองแบบปลอดภัย วารสารเส้นทางกสิกรรม ฉบับที่ 163 เดือนมีนาคม.2552.พิจิตร

0 comments:

Post a Comment